ประวัติ

ประวัติความเป็นมาของคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น

ปี พ.ศ. 2476 มติในที่ประชุมคณะรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เห็นควรเปิดโรงเรียนสอนวิชาชีพ ดังนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการสมัยนั้น เห็นว่าอาชีพช่างตัดเสื้อตกไปอยู่ในมือของคนช่างชาติเป็นส่วนมาก ไม่มีคนไทยประกอบอาชีพช่างตัดเสื้อเลย จึงดำริให้เปิดโรงเรียนวิชาชีพช่างตัดเสื้อขึ้นที่วัดสุทัศน์ ชื่อว่า “โรงเรียนช่างตัดเสื้อวัดสุทัศน์” เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น เรียนวิชาชีพด้านตัดเย็บเสื้อผ้าชาย เมื่อจบการศึกษาแล้วไม่ประสงค์เรียนต่อในระดับสูงขึ้น จะได้มีอาชีพติดตัวไปประกอบอาชีพมีรายได้เปิดสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2476 สังกัดกองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2481 จัดหลักสูตรไว้ 2 ประเภท คือ ประถมช่างเย็บและช่างตัดมัธยม ปีแรกนับนักเรียน 24 คน ต่อมาปี 2510 เพิ่มเป็น 279 คน นอกจากนี้ยังได้เปิดสอนแผนกอาชีวศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้การศึกษาวิชาชีพช่างตัดเสื้อผ้าแก่บุคคลภายนอกที่สนใจ เป็นการส่งเสริมให้คนไทยนิยมประกอบอาชีพประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2504 มีนักเรียนนิยมเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าสถานที่ตั้งของโรงเรียนคับแคบขยายต่อไปอีกไม่ได้ จึงย้ายโรงเรียนมาตั้งอยู่ที่ 517 ถนนนครสวรรค์ แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2504 พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนช่างตัดเสื้อพระนคร” โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล. ปิ่น มาลากุล) ได้มาทำพิธีเปิดอาคารเรียน เปิดทำการสอนแผนกวิชาสามัญ แผนกวิชาชีพตัดเสื้อชาย และแผนกวิชาอาชีวศึกษาผู้ใหญ่ ปี พ.ศ. 2514 โรงเรียนได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตามพระนามของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้บริหารในสมัยนั้น ( นายชมพูเทพหัสดิน ณ อยุทธยา) จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช.) หลักสูตร 3 ปี รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.ศ.3 หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)หลักสูตร 2 ปี รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช.) แผนกช่างตัดเสื้อชายและแผนกออกแบบเครื่องแต่งกายสตรี เน้นการเรียนการสอนด้านการปฏิบัติ และหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม) หลักสูตร 1 ปี รับผู้จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทุกสาขาวิชา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถไปประกอบอาชีพส่วนตัว หรือภาครัฐหรือภาคเอกชน เช่น รับราชการในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ โรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เป็นต้น มีนักเรียนสนใจเข้ามาศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี (จาก 279 คน เป็น 890 คน)
ต่อมา ปี พ.ศ. 2520 วิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ย้ายไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เปลี่ยนสถานะเป็น วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผลิตนักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ผู้บริหารฯวืทยาเขตฯในยุคต่อมาเห็นว่าแนวโน้มในอนาคตภาคราชการมีความต้องการผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาชีพนี้ เข้ารับราชการลดลง แต่อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศในระดับต้น ๆ ปีละหลายหมื่นล้านบาท มีความต้องการพนักงานที่มีความรู้ในวิชาชีพนี้สูง จึงจำเป็นปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นการผลิตบุคลากรเข้าสู่ภาคธุรกิจด้านสิ่งทอและแฟชั่น ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน ดังนี้
1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แผนกช่างตัดเสื้อเดิมเป็นสาขาวิชาอุตสาหกรรมเสื้อผ้า( ปิดรับนักศึกษา ปีการศึกษา2534 )
2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาการผลิตอุตสาหกรรมเสื้อผ้า(สาขาวิชาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า) สาขาวิชาออกแบบเสื้อผ้า และสาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 นักเรียนเข้ามาเรียนที่วิทยาเขตฯเริ่มลดลง ผู้บริหารวิทยาเขตฯจึงมีนโยบายให้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.และปวส. )ด้านบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี การขาย การตลาดและคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เพิ่มเติม
ปี พ.ศ. 2540-2548 วิทยาเขตฯ เปิดสอนระดับปริญญาตรี เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. และสถานประกอบการมีความต้องการแรงงานระดับหัวหน้างาน เพื่อควบคุมการผลิตในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ดังนั้นวิทยาเขตฯ แบ่งการจัดการศึกษา ออกเป็น 2 ระดับดังนี้
1. ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สายวิชาช่างอุตสาหกรรม คณะวิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดสอน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีเสื้อผ้า สาขาวิชาออกแบบเสื้อผ้า สาขาวิชาเคมีสิ่งทอ สายวิชาบริหารธุรกิจ คณะวิชาบริหารธุรกิจ เปิดสอน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการบัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ
2. ระดับปริญญาตรี หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต ( หลักสูตร 4 ปี/ ต่อเนื่อง) ได้แก่ วิชาเอกเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอเน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติการทางด้านนักวิจัยและพัฒนาทางด้านเคมีสิ่งทอ, ช่างเทคนิคฟอกย้อมสิ่งทอ, ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และนักทดสอบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ฯลฯ วิชาเอกเทคโนโลยีเสื้อผ้าเน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติการทางด้านผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูป, ช่างเทคนิค, งานตรวจสอบ, จัดการสินค้า, วางแผนและการผลิตเสื้อผ้า ฯลฯ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี และต่อเนื่อง) ได้แก่ วิชาเอกออกแบบสิ่งทอเน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติการทางด้านนักออกแบบแฟชั่น, นักออกแบบ สาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สิ่งทอและแฟชั่น) และหลักสูตรบริหารธุรกิจ ได้แก่ วิชาเอกการตลาด บัญชีและคอมพิวเตอร์ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
ตลอดระยะเวลาของการจัดการศึกษาของวิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2476 ถึง 2548 ได้มีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร บุคลากร อาคารเรียน ห้องเรียน และครุภัณฑ์ประจำหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม นำระบบการประกันคุณภาพการศึกษาด้วยมาตรฐาน ISO 9000 จัดทำกิจกรรม 5 ส. การรายงานผลประเมินตนเอง ภายใต้นโยบายประกันคุณภาพของสถาบันฯ ที่ว่า “มุ่งมั่นจัดการศึกษาวิชาชีพและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ตอบสนองความพึงพอใจของผู้รับบริการด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”
ปี พ.ศ. 2548 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัย ” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2548 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 กระทรวงศึกษาธิการอาศัยอำนาจตามมาตรา 5(4) จึงออกประกาศกฎกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พ.ศ. 2549ออกเป็น 8 คณะ 3 สำนัก 1 สถาบัน วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (เดิม) จึงเปลี่ยนสถานะเป็น ”คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น” ได้จัดการเรียนการสอน โดยมีหลักสูตรที่มุ่งเน้นสร้างนักปฏิบัติการด้านสิ่งทอและแฟชั่นที่ตอบสนองภาครัฐและเอกชนเช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกรมพัฒนาฝีมือแรงงานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติและสอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2548-2551 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพโดยมีเป้าประสงค์ผลิตคนให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เป็นคนดีมีคุณภาพมีศักยภาพ ความสามารถในการแข่งขันมีคุณธรรมจริยธรรม (รหัสกลยุทธ์ 02-04-016 และ 02-04-020) และสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 :การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้โดยมีเป้าประสงค์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยใช้ฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม (รหัสกลยุทธ์ 03-14-089 และ 03-14-090) นอกจากนี้คณะอุตสาหกรรมออกแบบสิ่งทอและแฟชั่นได้มีจุดเน้นในการพัฒนา คือการจัดการศึกษาด้านสิ่งทอและออกแบบแฟชั่นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาล เรื่องอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเครื่องหนังและเครื่องประดับวางเป้าเป็นศูนย์กลางแฟชั่นสำหรับเขตร้อนของโลกโดยมีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับทางด้านสิ่งทอและแฟชั่นนอกจากนี้ยังตอบสนองนโยบายกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นและหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของรัฐบาล
จากเหตุผลดังกล่าวคณะฯ จึงปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และโอนย้ายนักศึกษาบริหารทุกสาขาวิชาไปเรียนที่คณะบริหารธุรกิจ ปรับปรุงหลักสูตรวิชาชีพเดิมที่มีการบริหารหลักสูตรโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มาเป็นหลักสูตรประจำคณะฯ คือหลักสูตรบริญญาตรี (เทคโนโลยีบัณฑิต) 4 สาขา ดังนี้
1. สาขาวิชาเทคโนโลยีเสื้อผ้าและการจัดการธุรกิจแฟชั่น
2. สาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ
3. สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ
4. สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ