เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้เปิดการอบรมเชิงฏิบัติการแก่บุคลลทั่วไป รุ่นที่ 2 จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ (1) “การผลิตผงสีจากธรรมชาติและการประยุกต์ใช้สำหรับงานพิมพ์สิ่งทอ” โดยมีนักศึกษาผู้รับผิดชอบโครงงานคือ นายจิราเมธ สุภารัตน์ และนายธรรมทัศน์ ขำรัตน์ และ (2) การพิมพ์ทรานเฟอร์ใบไม้ลงบนผ้าฝ้าย” โดยมีนักศึกษาผู้รับผิดชอบโครงงานคือ นายพิริยะพล โสภาคกุล และนางสาวณัฐกานต์ ช้างแก้ว การอบรมนี้ก็ผ่านไปด้วยดีโดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 25 ท่าน โดยผู้เข้าร่วมอบรมที่นั่งรถมาไกลสุดมาจากจังหวัดสุรินทร์
ทั้งนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าการอบรมทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ดำเนินการโดยนักศึกษาทั้ง 4 ท่านโดยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ และเรียนรายวิชาโครงงานทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ (Project) ทั้งหมดเลย โดยทั่วไปแล้วการสอบจบวิชาโปรเจคที่ผ่านมาก็ให้นักศึกษาขึ้นสอบและรายงานต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งผลที่ได้คือเล่มจบ หรือไม่ก็งานตีพิมพ์บทความ แต่ในปีนี้ผมในฐานะที่ปรึกษาโปรเจคทั้งสองเรื่องได้มีมุมมองใหม่ของการเรียนการสอนในวิชานี้ กล่าวคือเราอยากให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้คิดค้น และพัฒนามาไปดำเนินการเผยแพร่ (โดยไม่มีการปิดบังสูตรใดๆ ทั้งสิ้น) ให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งนี้บุคคลที่สนใจสามารถที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ จึงทำให้เกิดที่มาของการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวจำนวน 2 รุ่น และถ้าถามว่าค่าลงทะเบียนที่เก็บมาต่อหัวคุ้มค่ากับการอบรมหรือไม่ ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์ หรือธุรกิจ ต้องบอกเลยว่าไม่คุ้ม แต่ถ้ามองในฐานะอาจารย์และนักวิชาการต้องบอกเลยว่าคุ้มมากๆ กับนักศึกษาทั้ง 4 ท่าน โดยนักศึกษาเหล่านี้ได้รับประสบการณ์เป็นอย่างสูงของการจัดอบรมทั้งสองครั้ง โดยเฉพาะประสบการณ์เป็นวิทยากรที่ต้องพูดเอง สอนปฏิบัติเอง รวมทั้งประสบการณ์อื่นๆ ซึ่งไม่สามารถหาได้จากที่อื่นๆ ทั้งนี้ถือว่าผลงานที่นักศึกษาได้ดำเนินการเผยแพร่ทั้งสองเรื่องมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องบอกเลยว่าเราเปิดรับเพียงแค่ 2-3 วัน เราก็ต้องปิดระบบลงทะเบียน เพราะได้จำนวนคนที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินเต็มและเกินจำนวนทั้งสองรอบ และมีคำพูดจากผู้เข้าอบรมที่บอกเรามาก็คือ “ค่ารถที่มาร่วมอบรม ยังแพงกว่าค่าลงทะเบียนอีก” ซึ่งก็เป็นความจริงสำหรับผู้เข้าอบรมที่ที่มาจากไกลๆ ทั้งนั้งผมเองก็ได้สอนนักศึกษาไปว่า “อย่ามองเรื่องเงินเป็นตัวหลัก เราจะต้องมองเรื่องความสบายใจเป็นหลัก และตัวเงินเป็นรอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราเป็นสถาบันการศึกษาเราจะต้องเป็นผู้ให้โดยไม่ต้องปิดบังข้อมูล และถ้าเรายิ่งให้เราจะยิ่งได้รับสิ่งนั้นๆ คืนมา และที่สำคัญเราจะต้องนำองค์ความรู้ช่วยเหลือ วิสาหกิจชุมชน สังคม และประเทศชาติให้อยู่รอด และยั่งยืนตลอดไป”