เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และทีมงาน ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ลงพื้นที่ให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี การฟอก ย้อม พิมพ์ การออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือสู่เชิงพาณิชย์ โดยรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมครามที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดภาคอีสาน และเป็นแหล่งผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม ก่อให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีครามจากธรรมชาติ อาทิเช่น ผ้าพันคอจากผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีคราม ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าฝ้ายย้อมสีพิมพ์สีจากใบมังคุด และผลิตภัณฑ์หมวกบักเก็ตจากผ้าฝ้ายทอมือ มีการผสมผสานวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้ผ้าทอมือของไทยมีรูปแบบและลวดลายที่มีความเป็นสากลและเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับคุณภาพผ้าฝ้ายทอมือ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีลุ่มน้ำโขง ชี มูล ได้อย่างยั่งยืน ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหมือดแอ่ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชนซึ่งผลิตสิ่งทอพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ผ้าทออีสาน เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น โดยนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน